คปอ. คืออะไร
ภาพที่ 1 : คปอ. คืออะไร
“คปอ” คือ คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับองค์กรในการขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยในการทำงาน และมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบสภาพแวดล้อมในสถานประกอบกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ที่จะเป็นคปอ. ได้นั้น จะต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรคปอ ได้รับการเลือกตั้ง แต่งตั้งโดยมีตัวแทนของแต่ละฝ่ายทั้งตามสัดส่วนลูกจ้าง และนายจ้าง
ซึ่งตามกฎกระทรวง การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงานหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2565 ได้ระบุไว้ว่า สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีลูกจ้างครบจำนวน ซึ่งคณะกรรมการความปลอดภัย เป็นคณะบุคคล ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยของสถานประกอบกิจการ ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความปลอดภัยในการทำงานสำหรับทุกคนที่เข้ามาในสถานประกอบกิจการ
ตารางแสดงสัดส่วนของ คปอ. ในสถานประกอบกิจการ พ.ศ 2565
ภาพที่ 2 : ตารางแสดงสัดส่วนของคปอ. พ.ศ.2565
** เพิ่มจำนวนกรรมการความปลอดภัยมากกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ โดยจำนวนกรรมการความปลอดภัยซึ่งเป็น “ผู้แทนนายจ้างระดับบังคับบัญชา” และ “ผู้แทนลูกจ้าง” ต้องมีจำนวนในสัดส่วนที่เท่ากัน
ตารางแสดงจำนวนลูกจ้างกับการมีจป. ตามกฎหมาย พ.ศ 2565
ภาพที่ 3 : ตารางแสดงจำนวนลูกจ้างกับการมีจป พ.ศ.2565
หน้าที่ของ คปอ ตามกฏหมายมีอะไรบ้าง
- จัดทำนโยบายด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการเสนอต่อนายจ้าง
- จัดทำแนวทางการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ การประสบอันตราย การเจ็บป่วยหรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างหรือความไม่ปลอดภัยในการทำงานเสนอต่อนายจ้าง
- รายงานและเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางปรับปรุงแก้ไขสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานต่อนายจ้างเพื่อความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ผู้รับเหมาและบุคคลภายนอกที่เข้ามาปฏิบัติงานหรือเข้ามาใช้บริการในสถานประกอบกิจการ
- ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
- พิจารณาคู่มือว่าด้วยความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการเพื่อเสนอความเห็นต่อนายจ้าง
- สำรวจการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในการทำงานและรายงานผลการสำรวจดังกล่าว รวมทั้งสถิติการประสบอันตรายที่เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการนั้น ในการประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยทุกครั้ง
- พิจารณาโครงการหรือแผนการฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงโครงการหรือแผนการอบรมเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านความปลอดภัยของลูกจ้าง หัวหน้างาน ผู้บริหาร นายจ้างและบุคลากรทุกระดับเพื่อเสนอความเห็นต่อนายจ้าง
- จัดวางระบบให้ลูกจ้างทุกคนทุกระดับมีหน้าที่ต้องรายงานสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยต่อนายจ้าง
- ติดตามผลความคืบหน้าเรื่องที่เสนอต่อนายจ้าง
- รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี รวมทั้งระบุปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการความปลอดภัยเมื่อปฏิบัติหน้าที่ครบหนึ่งปีเสนอต่อนายจ้าง
- ประเมินผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
- ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างมอบหมาย
การดำรงตำแหน่งกรรมการความปลอดภัย
ภาพที่ 4 : การดำรงตำแหน่งของกรรมการความปลอดภัย
- กรรมการความปลอดภัยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี
- การแต่งตั้งหรือจัดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัยชุดใหม่
- ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันก่อนวันที่กรรมการความปลอดภัยชุดเก่าครบวาระ
- ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จ ให้กรรมการความปลอดภัยซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการความปลอดภัยซึ่งได้มาใหม่เข้ารับหน้าที่
- ในกรณีที่จำนวนลูกจ้างลดลงเหลือน้อยกว่า 50 คน ให้กรรมการความปลอดภัยดำเนินการต่อไปจนกว่าครบวาระ
- ในกรณีที่มีกรรมการความปลอดภัยพ้นจากตำแหน่ง ให้แต่งตั้งหรือจัดให้มีกรรมการความปลอดภัยแทนตำแหน่งที่ว่าง อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่
สิ่งที่ต้องดำเนินการหลังจากการแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยชุดใหม่
ภาพที่ 5 : สิ่งที่ต้องดำเนินการหลังจากแต่งตั้งคปอ.ชุดใหม่
- เผยแพร่และปิดประกาศรายชื่อและหน้าที่รับผิดชอบของคณะกรรมการความปลอดภัย โดยเปิดเผยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ทั้งนี้ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่เปลี่ยนแปลง
- ส่งสำเนาคำสั่งแต่งตั้งต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง
- จัดให้กรรมการความปลอดภัยได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรคณะกรรมการความปลอดภัย ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งหรือได้รับเลือก เว้นแต่เคยผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว
- เก็บหลักฐานการเปลี่ยนแปลงกรรมการ รวมทั้งหน้าที่รับผิดชอบของคณะกรรมการความปลอดภัย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี
การประชุมคณะกรรมการความปลอดภัย
ภาพที่ 6 : การประชุมคปอ.
- ประชุมคปอ. อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
- จัดให้มีการประชุมโดยไม่ชักช้าในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือภยันตรายใด ๆ ที่เป็นเหตุให้ลูกจ้างหรือบุคคลภายนอกสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต เพื่อทบทวนรายงานการสอบสวนอุบัติเหตุ และเสนอแนะแนวทางป้องกันแก้ไขต่อนายจ้าง
- การประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการความปลอดภัยกำหนด
- ในการประชุมแต่ละครั้ง ให้แจ้งกำหนดการประชุมและระเบียบวาระการประชุมให้กรรมการความปลอดภัยทราบไม่น้อยกว่า 3 วันก่อนถึงวันประชุม เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน
- ปิดประกาศมติของที่ประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานประกอบกิจการ เพื่อให้ลูกจ้างทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีมติ
- จัดทำสำเนาบันทึกรายงานผลการดำเนินงานหรือรายงานการประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการความปลอดภัย เก็บไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีนับแต่วันจัดทำ
ดังนั้นการแต่งตั้งให้มีคณะกรรมการความปลอดภัยในการทำงาน ไม่เพียงแต่จะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเท่านั้น แต่คณะกรรมการความปลอดภัยยังมีส่วนที่จะช่วยในการพลักดันนโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัย เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับพนักงานและสถานประกอบกิจการ รวมถึงร่วมกันหารือแนวทางป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน เพื่อให้อุบัติเหตุนั้นเป็นศูนย์ด้วย
ให้คำปรึกษาฟรี!!!
คุณชัญญา เพชรมณีโชติ (แนน)
chunya@factorium.tech
061-546961
คุณนรีพร ใสสม (ส้มโอ)
Nareeporn@factorium.tech
065-9647198
Website: https://www.jorporplus.com/
Facebook: https://www.facebook.com/JorPorPlus
Line Official : https://lin.ee/dOulra8
Youtube: https://www.youtube.com/playlist?list=PL0b92T8M8rKX1jrpbfpBgozl6Dk3y-nu8