“การยกหรือเคลื่อนย้ายวัสดุ ด้วยแรงกาย เป็นงานที่พบในสถานประกอบกิจการเกือบทุกแห่ง ไม่ว่าจะในโรงงาน อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ หรือในศูนย์กระจายสินค้า ในหลายๆ กรณีวัสดุที่ต้องยกและเคลื่อนย้ายอาจมีน้ำหนักมาก มีขนาดใหญ่ หรือมีรูปร่างที่ไม่เป็นมาตรฐาน ซึ่งลูกจ้างต้องยกและเคลื่อนย้ายวัสดุเป็นประจำหรือหลายชั่วโมง ดังนั้นลูกจ้างที่ต้องยกและเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกาย จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการบาดเจ็บที่ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก โดยเริ่มแรกลูกจ้างจะมีอาการปวดเมื่อยร่างกาย รวมไปถึงส่วนอื่นๆ ซึ่งอาการเหล่านี้ อาจสะสมและเพิ่มระดับอาการมากขึ้น มีผลกระทบต่อสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้าง และเกิดการบาดเจ็บที่ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก อาการบาดเจ็บนี้อาจจะกลายเป็นการบาดเจ็บถาวรและมีผลทำให้ลูกจ้างไม่สามารถยกและเคลื่อนย้าย หรือปฏิบัติงานที่ใช้แรงกายอื่นๆ ได้
สาเหตุหลักของการบาดเจ็บของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกเนื่องจากการยกและเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกาย เช่น
1) ออกแบบสถานีงานไม่เหมาะสมกับลูกจ้างหรืองานที่ปฏิบัติ หรือไม่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์
2) จัดบริเวณงานไม่เหมาะสม ทำให้มีพื้นที่ปฏิบัติงานน้อย ต้องปฏิบัติงานโดยมีสิ่งกีดขวาง
3) วัสดุที่ต้องยกและเคลื่อนย้าย มีปริมาณมากเกินไป
4) ปฏิบัติงานด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม เช่น การยกและเคลื่อนย้ายวัสดุปริมาณมากเกินไปในแต่ละครั้งเพื่อลด จำนวนครั้งของการยก การไม่หยุดพักเมื่อมีอาการเมื่อยล้า เป็นต้น
5) ยกและเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยอิริยาบถท่าทางที่ไม่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์

ปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากการยกวัสดุสิ่งของหนัก

อาการปวดหลัง (Back Pain) เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ
1) อาการปวดอย่างเฉียบพลัน สาเหตุมักเกิดจากการ ได้รับบาดเจ็บ เช่น กระดูกสันหลังหัก กระดูกสัน หลังเคลื่อน
2) อาการปวดอย่างเรือรัง ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 80 โดยมักมีสาเหตุมาจากการยกของผิดวิธี หรือยกของหนักเกินกำลัง การใช้ท่าทางการทํางานที่ไม่เหมาะสม การทํางานที่มีความเครียดมากเกินไป ฯลฯ

การยกหรือเคลื่อนย้ายวัสดุ โดยลูกจ้าง 1 คน

1) ยืนชิดวัสดุที่จะยก

ภาพที่ 1 : การยืนชิดวัสดุที่จะยก

วางเท้าให้ถูกต้องและมีความมั่นคง เพื่อป้องกันการเสียสมดุลของร่างกาย การวางเท้าให้ถูกตำแหน่งโดยเฉพาะเมื่อยกและเคลื่อนย้ายวัสดุที่มีขนาดใหญ่ ให้วางเท้าข้างหนึ่งขนานกับวัสดุที่จะยก ส่วนอีกข้างให้อยู่ด้านหลังอย่างมั่นคงเพื่อป้องกันการเสียสมดุลของร่างกาย พยายามเหยียดหลังให้ตั้งตรง เพื่อรักษาส่วนโค้งของกระดูกสันหลังให้เป็นไปตามธรรมชาติซึ่งจะทำให้แรงกดบนหมอนรองกระดูกสันหลังมีการกระจายตัวเท่าๆ กัน

2) เมื่อตำแหน่งมือจับของวัสดุอยู่ต่ำกว่าระยะกำปั้น (ขณะยืน) ให้ย่อเข่าโดยให้หลังอยู่ในแนวเส้นตรง

ภาพที่ 2 : ย่อเข่าโดยให้หลังอยู่ในแนวเส้นตรง

เพื่อรักษาส่วนโค้งของกระดูกสันหลังให้เป็นไปตามธรรมชาติ จะทำให้แรงกดบนหมอนรองกระดูกสันหลังมีการกระจายตัวเท่า ๆ กันในขณะยกวัสดุ

3) จับวัสดุให้มั่นคงโดยใช้อุ้งมือประคองจับ

ภาพที่ 3 : จับวัสดุให้มั่นคงโดยใช้อุ้งมือประคองจับ

เพื่อป้องกันการลื่นหลุดจากมือ และหากเป็นไปได้ควรมีที่จับ เพื่อให้จับได้ถนัดและง่าย

4) ควรให้แขนชิดลำตัว

ภาพที่ 4 : เวลายกควรให้แขนชิดลำตัว

ไม่ควรกางแขนออก และให้วัสดุที่จะยกอยู่ชิดลำตัวให้มากที่สุด เพื่อให้มวลของ วัสดุผ่านลงที่ต้นขาทั้งสองข้าง

5) ค่อย ๆ ยืดเข่า ยกตัวยืนขึ้นโดยใช้กำลังจากกล้ามเนื้อขา

ภาพที่ 5 : ค่อย ๆ ยืดเข่า ยกตัวยืนขึ้นโดยใช้กำลังจากกล้ามเนื้อขา

และขณะที่ยืนขึ้น หลังจะอยู่ในแนวตรง หรือเป็นไปตามธรรมชาติ

6) ควรให้ตำแหน่งของศีรษะอยู่ในแนวตรงกับกระดูกสันหลัง

ภาพที่ 6 : ควรให้ตำแหน่งของศีรษะอยู่ในแนวตรงกับกระดูกสันหลัง

  ไม่ก้ม โดยที่ในขณะยกวัสดุขึ้นและเดิน จะต้องมองเห็นทางเดินได้อย่างชัดเจน

การยกหรือเคลื่อนย้ายวัสดุ โดยลูกจ้าง 2 คน

การยกและเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกายโดยลูกจ้าง 2 คน เป็นลักษณะที่ลูกจ้าง 2 คนช่วยกันยกวัสดุ 1 ชิ้น โดยยกที่ ด้านหัวและด้านท้ายของวัสดุ ด้วยอิริยาบถท่าทางการยกรูปแบบเดียวกับการยกคนเดียว ในการยกและเคลื่อนย้าย ควรยกขึ้นพร้อมกัน อาจใช้วิธีนับหนึ่ง สอง สาม แล้วยก และควรใช้ความเร็วในการยกเท่ากันในกรณีที่วัสดุที่ยกด้าน หัวและด้านท้ายหนักไม่เท่ากันและต้องยกหลายครั้ง ควรให้ลูกจ้างสลับด้านกันยก โดยมีขั้นตอนดังนี้

1) ยืนชิดวัสดุ วางเท้าให้ถูกต้องและมีความมั่นคงเพื่อป้องกันการเสียสมดุลของร่างกาย
2) ย่อเข่าให้หลังอยู่ในแนวตรงเพื่อรักษาส่วนโค้งของกระดูกสันหลังให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพื่อให้แรงกดบนหมอน รองกระดูกสันหลังมีการกระจายตัวเท่า ๆ กัน
3) จับวัสดุให้มั่นคงโดยใช้อุ้งมือประคองจับเพื่อป้องกันการลื่นหลุดจากมือ และหากเป็นไปได้ควรมีที่จับเพื่อให้จับได้ถนัด และง่าย
– ควรให้แขนชิดลำตัว ไม่ควรกางแขนออก และให้วัสดุที่จะยกอยู่ชิดลำตัวให้มากที่สุด เพื่อให้มวลของวัสดุผ่านลงที่ต้นขาทั้งสองข้าง
– ค่อยๆ ยืดเข่า ยกตัวยืนขึ้นโดยใช้กำลังจากกล้ามเนื้อขาและขณะที่ยืนขึ้น หลังจะอยู่ในแนวตรงหรือเป็นไปตามธรรมชาติ
– ควรให้ตำแหน่งของศีรษะอยู่ในแนวตรงกับกระดูกสันหลัง ไม่ก้ม โดยที่ในขณะยกวัสดุขึ้นและเดิน จะต้องมองเห็นทางเดินได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในมาตรา 37 ได้วางหลักกฎหมายเอาไว้ว่าห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงาน ยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือ เข็นของหนัก เกินอัตราน้ำหนักตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ ได้กำหนดให้นายจ้างใช้ลูกจ้างทำงานเหล่านี้ได้ ไม่เกินอัตราน้ำหนักโดยเฉลี่ย

อายุตั้งแต่ 15 ปีแต่ไม่ถึง 18 ปี

– เด็กหญิง ยกของหนักได้ไม่เกิน 20 กิโลกรัม

– เด็กชาย ยกของหนักได้ไม่เกิน 25 กิโลกรัม

อายุเกิน 18 ปีขึ้นไป

– เพศหญิง ยกของหนักได้ไม่เกิน 25 กิโลกรัม

– เพศชาย ยกของหนักได้ไม่เกิน 55 กิโลกรัม

ในกรณีของหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้นายจ้างจัดให้มีเครื่องทุ่นแรงที่เหมาะสม เช่น รถเข็น รถยก ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้าง

ที่มา : มาตรฐานการยกและเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกายตามหลักการยศาสตร์ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
Website: https://www.jorporplus.com/
Facebook: https://www.facebook.com/JorPorPlus
Line Official : https://lin.ee/dOulra8
Youtube: https://www.youtube.com/playlist?list=PL0b92T8M8rKX1jrpbfpBgozl6Dk3y-nu8