“โรคจากการประกอบอาชีพ” (Occupational Disease) คือ ภาวะสุขภาพหรือความผิดปกติที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น มะเร็ง ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ความเครียดหลังเกิดบาดแผล เป็นต้น ซึ่งโรคจากการทำงานนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สารชีวภาพ สารเคมี ปัญหาตามหลักการยศาสตร์ ทางกายภาพ หรือแม้แต่ปัญหาทางสังคม ความเครียดต่างๆ
ซึ่งตามกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานบุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 “กำหนดให้ จป.วิชาชีพ มีหน้าที่ให้ความรู้ และอบรมด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแก่ลูกจ้างก่อนเข้าทำงาน และระหว่างทำงาน เพื่อทบทวน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง” ดังนั้น เพื่อให้พนักงานทราบถึงการเกิดโรคและส่งเสริมสุขภาพอนามัยของพนักงานในสถานประกอบกิจการและปฏิบัติให้สอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด จปจึงควรอบรมเรื่องโรคจากการประกอบอาชีพ
ภาพที่ 1 : ความหมายของโรคจากการประกอบอาชีพ
ตามพรบ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562
“โรคจากการประกอบอาชีพ” มีอยู่ 5 โรค ดังต่อไปนี้
ภาพที่ 2 : โรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ และโรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม
- โรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว
- โรคจากฝุ่นซิลิกา
- โรคจากภาวะอับอากาศ
- โรคจากแอสเบสตอส (ใยหิน) หรือโรคมะเร็งที่เกิดจากแอสเบสตอส (ใยหิน)
- โรคหรืออาการสำคัญของพิษจากสารกำจัดศัตรูพืช
“โรคจากสิ่งแวดล้อม” หมายความว่า โรค หรือ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากหรือเป็นผลเนื่องมาจากมลพิษ มีอยู่ 2 โรค ดังต่อไปนี้
- โรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว
- โรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน
“มลพิษ” หมายความว่า ของเสีย วัตถุอันตราย สิ่งปนเปื้อน และมลสารอื่น ๆ รวมทั้งกาก ตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม ตามธรรมชาติซึ่งก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือภาวะที่เป็นพิษภัย อันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ และให้หมายความรวมถึงรังสี ความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือน หรือเหตุอื่น ๆ ที่เกิดหรือถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษด้วย
“แหล่งกำเนิดมลพิษ” หมายความว่า โรงงานอุตสาหกรรม อาคาร สิ่งก่อสร้าง ยานพาหนะ และสถานที่ประกอบกิจการใด ๆ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของมลพิษ
“การเฝ้าระวัง” หมายความว่า การสังเกต การเก็บรวบรวม และการวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจน การรายงาน และการติดตามผลของโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ด้วยกระบวนการที่เป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและการควบคุมโรค
“การสอบสวนโรค” หมายความว่า กระบวนการเพื่อหาสาเหตุและแหล่งที่เกิดโรคจาก การประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและการควบคุมโรค
โรคจากการประกอบอาชีพ เกิดได้จากหลายสาเหตุ
ภาพที่ 3 : โรคจากการประกอบอาชีพมีสาเหตุการเกิดจากอะไรบ้าง
- สารชีวภาพ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ปรสิต แมลง พืช นก สัตว์ หรือคน
- สารเคมี เช่น เบอริลเลี่ยม ตะกั่ว เบนซีน ไอโซไซยาเนต
- ปัญหาตามหลักการยศาสตร์ เช่น การเคลื่อนไหวซ้ำๆ การติดตั้งสถานีงาน แสงสว่างไม่เพียงพอ การออกแบบ เครื่องมือที่ไม่เหมาะสม
- ทางกายภาพ เช่น รังสีที่แตกตัวเป็นไอออน สนามแม่เหล็ก อุณหภูมิ เสียง ความสั่นสะเทือน
- ปัญหาทางสังคม เช่น ความเครียด ความรุนแรง การกลั่นแกล้งการล่วงละเมิด และการขาดการยอมรับ เป็นต้น
ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความรุนแรงของโรคจากการทำงาน
ภาพที่ 4 : ปัจจัยที่ส่งผลต่อความรุนแรงของการเกิดโรค
- ปริมาณการสัมผัสหรือปริมาณที่เข้าสู่ร่างกาย
- ระยะเวลาในการสัมผัส
- ความเป็นพิษของสารเคมี
- การขับสารออกจากร่างกาย
- ความไวในการรับสัมผัสส่วนบุคคล
- ผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
- การสัมผัสสารเคมีชนิดอื่น
ความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับการรับสัมผัสสารด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปหากยิ่งรับสัมผัสเป็นเวลานาน และปริมาณความเข้มข้นที่สูง ความเสี่ยงหรือการพัฒนาของโรคต่อสุขภาพก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
โรคจากการประกอบอาชีพ ป้องกันได้อย่างไร
ภาพที่ 5 : วิธีป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพ
การป้องกันโรคจากการทำงานสามารถทำได้ เพื่อทำให้ผู้ปฏิบัติงานปลอดภัยจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่ปฏิบัติงาน โดยสามารถป้องกันได้ ดังนี้
- เรียนรู้อันตรายในสถานที่ทำงาน เพื่อหาวิธีป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากอันตรายนั้น
- พัฒนาระบบความปลอดภัย ข้อกำหนดและขั้นตอนการทำงาน ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ทำงานไม่ให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย และลูกจ้างควรปฏิบัติตาม
- สื่อสารความเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความเสี่ยงต่อพนักงาน ให้ข้อมูลที่เหมาะสม และอบรมให้ความรู้ กับผู้ปฏิบัติงาน ทั้งก่อนและระหว่างปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถป้องกันตนเองจากอันตรายเบื้องต้นได้
- ควรมีการตรวจสุขภาพพนักงานตามปัจจัยเสี่ยง เพื่อติดตามว่าการทำงานของพนักงานมีความเสี่ยงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ หากมีความเสี่ยงเจ็บป่วยจากการทำงาน จป ต้องมีมาตรการแก้ไขควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพพนักงาน
จป ต้องอบรมพนักงานเกี่ยวกับโรคจากการประกอบอาชีพตามกฎหมายใหม่ ทั้งก่อนเริ่มงานและระหว่างทำงานนั้น จะต้องทำการประเมินความเสี่ยงเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้พนักงานในบริษัทของเราเกิดโรคจากการทำงาน การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงและติดตามผล ถือเป็นอีกวิธีที่จะช่วยติดตามสุขภาพของพนักงานที่มีแนวโน้มจะเกิดโรคจากการทำงานได้
อีกทั้งจป ต้องตอบคำถามพนักงานที่มีข้อสงสัย เช่น ชนิดสารเคมี อันตรายสารเคมี หลักในการป้องกันอันตรายจากสารเคมี ท่าทางในการทำงานที่ถูกต้อง การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น หน้ากากปิดจมูก เสื้อผ้า ถุงมือ กระบังหน้า ที่ครอบหูและอุดหู อุปกรณ์ที่ใช้ชำระล้างสารเคมี เช่น ฝักบัวล้างตา ล้างตา เป็นต้น ควรให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบความปลอดภัยในการทำงาน เช่น การจัดเก็บสารเคมี มีฉลากติดชัดเจน การทำความสะอาดเมื่อสารเคมีหกหรือรั่วไหล และมาตรการอื่นๆ ที่มีความจำเป็นตามกฎหมายกำหนด เพื่อรับผิดชอบในการตรวจสอบความปลอดภัยร่วมกัน โดยการให้ความรู้นั้นทำได้หลายวิธี เช่น การอบรม การติดบอร์ด เสียงตามสาย วิดิทัศน์ และการพูดให้ความรู้ก่อนเริ่มงานในช่วงเช้า (Morning talk) เป็นต้น
Website: https://www.jorporplus.com/
Facebook: https://www.facebook.com/JorPorPlus
Line Official : https://lin.ee/dOulra8
Youtube: https://www.youtube.com/playlist?list=PL0b92T8M8rKX1jrpbfpBgozl6Dk3y-nu8